วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เสด็จฯเยี่ยมถึงที่ 'พระเทพ' ซับน้ำตาพสกนิกร

กทม.สู้น้ำหนุน วันที่26-29ตค. ภาคกลางยังจม สมิทธชี้ลานีญา ทำฝนถล่มหนัก ฉะศูนย์ภัยพิบัติ




สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี ประทับบนรถยีเอ็มซี เสด็จฯทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วมในเขตเทศบาลตำบลท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 25 ต.ค.

สมเด็จ พระเทพฯ เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วมโคราชและทรงมอบถุงยังชีพช่วยเหลือ ส่วนที่เมืองกรุงเก่า ทูลกระหม่อมหญิงฯ เสด็จฯ ประทานถุงยังชีพ ยังความปลาบปลื้มแก่หมู่พสกนิกรเป็นอย่างมาก ด้านภัยน้ำทะลักยังหนักหลายจังหวัดทั้งภาคกลาง-อีสาน ยอดผู้เสียชีวิตขยับจ่อ 50 ศพ 'สมิทธ' จวกศูนย์เตือนภัยพิบัติฯ และหน่วยงานภาครัฐทำงานไร้ประสิทธิภาพ ชี้ 'ลานีญา' ต้นตอฝนถล่มไทยมากผิดปกติจนจมบาดาล

-พระเทพฯเสด็จฯโคราช

เมื่อ เวลาประมาณ 08.30 น. วันที่ 25 ต.ค. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถยนต์พระที่นั่งจากวังสระปทุมไปกองบัญชาการกองทัพ อากาศ ดอน เมือง และประทับเครื่องบินพระที่นั่ง ซึ่งกอง ทัพอากาศจัดถวาย เสด็จฯไปยังจ.นครราชสีมา

เวลา 09.00 น. เครื่องบินพระที่นั่งถึงกองบิน 1 กองพลบินที่ 2 กองบัญชาการยุทธทางอากาศ จ.นครราชสีมา จากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กของกองพลทหารราบที่ 3 เสด็จฯเยี่ยมราษฎรที่ประสบอุทกภัยในเขตเทศบาลตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ โดยมีนายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กราบบังคมทูลถวายรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กราบบังคมทูลถวายรายงานสถานการณ์น้ำ และพ.ญ.สุวรรณี วีระพรพงศ์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กราบบังคมทูลถวายราย งานการกู้โรงพยาบาล ตามพระราชดำริฯ จากนั้นพระราชทานถุงยังชีพแก่ตัวแทนราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ

-ทูลกระหม่อมทรงช่วยอยุธยา

วัน เดียวกัน ที่หอประชุมสนามกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จไปประ ทานถุงยังชีพพระราชทานแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในอยุธยา จำนวน 1,000 ถุง ยังความปลื้มปีติในหมู่พสกนิกรชาวอยุธยาเป็นอย่างมาก

-เร่งเสริมคันกั้นน้ำนนทบุรี

ส่วน สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ เวลา 09.00 น. ที่มัสยิดท่าอิฐ ต.ท่าอิฐ อ.ปาก เกร็ด จ.นนทบุรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิ บัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะ รวมทั้งนายทศพล เพ็งส้ม และนายณรงค์ จันทนดิศฐ ส.ส.นนทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่ตรวจสภาพน้ำท่วมและมอบถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชน โดยนายกฯ ได้เดินลุยน้ำท่วมที่สูงประมาณหัวเข่าตั้งแต่ปากทางเข้าไปจนถึงมัสยิดท่าอิฐ

นาย วิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าฯ นนทบุรี สรุปสถานการณ์ว่า ขณะนี้ประชาชนในจ.นนทบุรีได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวม 6 อำเภอ ประมาณ 5 หมื่นครัวเรือน ส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองหลักที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำ เจ้าพระยา ล่าสุดแนวคันกั้นน้ำที่ทางจังหวัดร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำขึ้น ไม่อาจต้านทานน้ำทะเลหนุนสูงเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมาได้ จึงจำเป็นต้องเสริมแนวคันกั้นน้ำอีก จนถึงวันนี้ใช้งบทดรองจ่ายของจังหวัดไปแล้ว 48 ล้านบาทจากวงเงิน 50 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องขอขยายกรอบวงเงินเพิ่มเติม อีกทั้งอยากขอให้ครม.ช่วยผ่อนปรนกฎระเบียบจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เรือ สุขาลอยน้ำ

ต่อมา นายอภิสิทธิ์ พร้อมคณะลงเรือตำรวจน้ำ ตรวจสภาพพื้นที่และบ้านเรือนของประชา ชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้า พระยา ใช้เวลาราว 30 นาทีแล้วไปขึ้นฝั่งที่ท่ากระทรวงพาณิชย์

-กทม.วอนอย่าตื่นตระหนก

เวลา 09.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ตรวจสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าเรือสาทร เขตสาทร ซึ่งวันนี้น้ำทะเลหนุนสูงสุดในเวลา 08.45 น. ที่ระดับ 1.97 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางบริเวณปากคลองตลาด และลดระดับลงมาเรื่อยๆ ส่วนปริมาณน้ำเหนือที่ปล่อยจากท้ายเขื่อนผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 4,573 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

การคาดการณ์ปริมาณน้ำในวันที่ 26 ต.ค. น้ำจะขึ้นสูงสุดในเวลา 09.09 น. หากน้ำที่ปล่อยลงมาไม่เกิน 4,500 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำน่าจะอยู่ที่ 2.20-2.30 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งกทม.มั่นใจว่ารับมือได้ เนื่อง จากคันกั้นน้ำที่สร้างขึ้นมีความสูง 2.50 เมตร จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่อาจป้องกันไม่ได้ทั้งหมด อาจมีชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่กทม.พร้อมบรรเทาปัญหาให้ประชาชนเต็มที่

เวลา 11.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ลงพื้นที่ท่าเรือศิริราชเพื่อตรวจสอบคันกั้นน้ำให้แน่ใจว่าน้ำจะไม่ทะลัก เข้าพื้นที่ โดยบริเวณโรงพยาบาลศิริราชคันกั้นจะสูง 2.80 เมตร จึงมั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ในพื้นที่เขตพระราชฐานในพื้นที่อื่นๆ ก็เตรียมการป้องกันไว้อย่างดีแล้ว

"ผม มีความชื่นชมเจ้าหน้าที่กทม. ทุกคนที่ร่วมปฏิบัติงานเต็มที่ เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาปัญหาให้ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง จึงขอให้ชาวกรุงเทพฯ อย่าตื่นตระหนก" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

-รับมือน้ำหนุน 26-29 ต.ค.

พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผบช.น. แถลงว่า หลายคนคงวิตกกังวล เหตุน้ำท่วมในกทม. เนื่องจากช่วงวันที่ 26-29 ต.ค.นี้ น้ำทะเลจะหนุนมากที่สุด ซึ่งทางผู้ว่าฯ กทม. ได้นำกระ สอบทรายไปเสริมตามพื้นที่ชุมชนต่างๆ บริเวณโดยรอบแม่น้ำเจ้าพระยาและทำสะพานไม้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบช.น. ได้กำชับถึงเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะการจราจร เพราะถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยาอาจได้รับผลกระทบ

"จุด ที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ถนนศรี อยุธยา บริเวณแยกพญาไท ถนนรัชดาฯ ซึ่งหากน้ำเอ่อล้นคลองน้ำแก้วอาจจะทำให้ท่วมเอ่อล้นเส้นรัชดาฯ ได้ และถนนศรีนครินทร์ซึ่งมีการซ่อมแซมทางอยู่" พล.ต.ต.ภาณุ ระบุ

-น้ำทะลักตลาดเมืองปทุม

ที่ จ.ปทุมธานี เวลา 09.30 น. บริเวณภายใน ตลาดสดเทศบาลเมืองปทุมธานี ต.บางปรอก อ.เมือง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดเหตุกระสอบทรายที่วางเป็นแนวกั้นน้ำยาว 10 เมตร สูง 1.50 เมตร พังทลายลงมาเป็นเหตุให้น้ำไหลเข้าท่วมตลาดสูงประมาณ 1 เมตร ความเสียหายเบื้องต้นพบว่าร้านจำหน่ายสินค้าราว 100 ร้านเสียหายทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถที่จะตั้งตัวรับน้ำได้ทัน

เวลา 10.00 น. คณะของนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางตรวจสภาพพื้นที่น้ำท่วม ในเขตจ.ปทุมธานี โดยเดินลุยน้ำเข้าตรวจเยี่ยมพระสงฆ์และชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ริมแม่น้ำ บริเวณวัดสองพี่น้องและบ้านเรือน ต.บ้านงิ้ว อ.สามโคก พร้อมทั้งแจกข้าวของยังชีพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในจ.ปทุมธานี ขณะนี้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย แต่ยังถือว่ายังรับมือไหว เจ้าหน้าที่และชาวบ้านต่างเฝ้าดูระดับน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด พร้อมกับตั้งแนวกระสอบทรายและคั้นดินเสริมเพิ่มเพื่อป้องกันน้ำเข้าท่วม ขณะที่กรมชล ประทานประสานงานกับทางการท้องถิ่นแจ้งว่ามีการชะลอการระบายน้ำ เนื่องจากในวันที่ 25-27 ต.ค.นี้ เป็นช่วงเวลาน้ำทะเลหนุน

ถนนขาด - ถนน สาย 3502 บ้านสระบัวก่ำ-บ้านดอนไร่ อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ถูกกระแสน้ำที่ระบายออกมาจากเขื่อนกระเสียวพัดจนขาด ต้องปิดการสัญจร เมื่อวันที่ 25 ต.ค.



-'ปู่จิ้น'คิดขุด'เจ้าพระยา 2'

นาย ธานี สามารถกิจ ผวจ.ปทุมธานี ราย งานข้อมูลกับนายชวรัตน์ว่า ขณะนี้ชาวปทุม ธานีได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมกว่า 1 หมื่นครัวเรือน แต่มั่นใจว่าจะรับมือได้หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติม ทั้งนี้ปัญหาเกิดจากผลกระทบต่อเนื่องจากจ.นครราชสีมา แต่ปทุมธานีมีระบบคันกั้นน้ำที่ดี สถานการณ์ตัวเมืองชั้นในน้ำยังไม่ไหลเข้า เพราะมีพื้นที่บางส่วนรับน้ำเอาไว้เพื่อรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงต้องตอบแทนชาวบ้านในพื้นที่เหล่านี้ที่เสียสละด้วยการเข้าไป ฟื้นฟูและทำความสะอาดหลังน้ำลด ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่คาดว่าจะขึ้นสูงสุดวันที่ 27 ต.ค. ซึ่งน้ำจะไหลมาจากประตูน้ำบางไทร เข้ามายังปทุมธานี ทางจังหวัดจะใช้ความพยา ยามสูงสุดไม่ให้น้ำไหลเข้ากทม.

ด้านนายชวรัตน์ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังน้ำลดรัฐบาลต้องวางแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบ โดยกระทรวงมหาดไทยจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา เพราะเห็นว่าเรื่องน้ำท่วมเป็นปัญหาระดับชาติและยังเห็นด้วยกับแนวคิดของนาย สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ที่จะทำแม่น้ำเจ้าพระยาสอง เพื่อเป็นจุดระบายน้ำเพิ่มเติม ขณะเดียวกันแนวคิดการขยายคลองรพีพัฒน์ ถือเป็นโครงการระดับชาติที่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

-ประตูระบายน้ำรังสิตล้น

ส่วน ยอดความเสียหายความเดือดร้อน มีบ้านเรือนประชาชนในปทุมธานีถูกน้ำท่วมเสียหาย 13,197 หลังคาเรือน รวม 42,197 ราย พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 23,627 ไร่ สถานที่ราชการเป็นสถานีอนามัย 6 แห่ง, โรง เรียน 32 แห่ง, วัด 23 แห่ง, ประชากรเจ็บป่วย 2,279 ราย, เสียชีวิต 1 ราย ล่าสุด วางแผนป้องกันสถานการณ์เฉพาะหน้าโดยดำเนินการตั้งคันกั้นน้ำสูงกว่า 3 เมตร และหากระดับน้ำสูงขึ้นอีก จำเป็นต้องเสริมคันป้องกันน้ำให้สูงขึ้นอีก 30 ซ.ม. เป็นระยะทาง 32 ก.ม.

เวลา 15.00 น. ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองรังสิต จ.ปทุมธานี ช่วยกันกรอกกระสอบทรายกั้นน้ำที่ล้นจากประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ด้านหลังตลาดรังสิต ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี ซึ่งเป็นประตูกั้นน้ำระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านลงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ หลังจากมีปริมาณน้ำเข้ามาในคลองรังสิตประยูรศักดิ์เพิ่มมากขึ้น ทำให้น้ำล้นจากประตูระบายน้ำดังกล่าว ชาวบ้านเกรงว่าปริมาณน้ำจะท่วมเข้าตลาดรังสิตและบ้านเรือนประชาชนจึงใช้วิธี การกั้นกระสอบทรายอย่างเร่งด่วน

-ชุมชน'กรุงเก่า'จมบาดาล

ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวแจ้งว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อยขึ้นสูงกว่า 1 เมตร ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมในบริเวณตลาดบ้านแพน อ.เสนา ซึ่งเป็นตลาดในเขตเทศบาลเมืองเสนา ด้านชาวชุมชนวัดพระญาติ ม.5 ต.ไผ่ลิง อ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 1,000 ครอบครัวกำลังได้รับความเดือดร้อนถูกน้ำท่วมสูง 1 เมตร การเดินทางเข้าออกไม่สะดวก เนื่องจากไม่มีเรือ ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ที่รับผิดชอบ ขอเรียกร้องให้เทศบาลสร้างสะพานไม้ จากปากทางวัดพระญาติไปสู่ชุมชนโดยด่วน

เวลา 12.00 น. หน่วยกู้ภัยอยุธยารวมใจเร่งช่วยเหลือหญิงชรากระโดดน้ำฆ่าตัวตายจาก สะพานปรีดีธำรงลงแม่น้ำป่าสัก โดยพบร่างลอยคอเกาะขอนไม้อยู่กลางแม่น้ำตรงจุดบรรจบของแม่น้ำป่าสักและแม่ น้ำเจ้าพระยา ห่างจาก สะพานปรีดีฯ 700 เมตร เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือนำหญิงชราขึ้นเรืออย่างทุลักทุเล จากนั้นนำตัวส่งไปที่ร.พ. พระนครศรีอยุธยา อย่างเร่งด่วน ทราบชื่อต่อมา นางสมคิด แสงเปี่ยม อายุ 70 ปี บ้านอยู่ 71/8 ม.1 ต.ประตูชัย ซึ่งบ้านอยู่ริมน้ำและโดนน้ำท่วมหนักแต่ปรากฏว่าไม่ได้รับการเหลียวแล จึงเกิดความน้อยใจคิดหนักอยู่ 3 วัน และตัดสินใจใช้ไม้เท้าเดินลุยน้ำออกจากบ้านมาที่สะพานปรีดีธำรงและกระโดดลง ไป

-'น้ำเสีย'ท่วมบ้านประชาชน

จ.ต.สมประสงค์ ปิ่นสุวรรณ์ อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 28 /5 ม.8 ต.จำปา อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เผยว่า เมื่อเช้าขณะกำลังลุยน้ำเข้าบ้านพักเพื่อเข้าเยี่ยมญาติในบ้านพัก ที่ถูกน้ำท่วม 2 เมตร ต้องผงะพบจระเข้ขนาดความยาวประมาณ 3 เมตร นอนเกยอยู่บนรั้วบ้านใต้ต้นมะม่วงกระโดดลงน้ำไป ก่อนหน้านี้มีชาวบ้านพบเห็นแล้วหลายครั้งจนพากันหวาดผวาไม่กล้าลงน้ำ อยากให้มีเจ้าหน้าที่จับกุมจระเข้ตัวดังกล่าวเพราะเกรงจะทำอันตรายเด็กและ ชาวบ้าน

นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.อยุธยา พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า อ.ท่าเรือ อ.คลองหลวง อ.บาง ปะหัน กำลังประสบปัญหาน้ำเสียที่มีการปนเปื้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมไหลออกมารวมกับ น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน สังเกตได้ว่ามีปลาเริ่มลอยตายจำนวนมาก นายกฯ ลงมาเยี่ยมพื้นที่ก็ไม่ได้นำหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเข้าดูปัญหาดังกล่าว ส่วนรมว.อุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ รับผิดชอบโดยตรงก็ยังไม่เคยเข้ามาตรวจสอบ ขอให้รัฐบาลเร่งจัดสรรงบฯ ให้กับหน่วยงานในท้องที่เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ไม่ใช่มารอแก้ไขหลักเกณฑ์ เพราะวันนี้ประชาชนจะตายอยู่แล้ว

-สุพรรณฯประกาศภัยพิบัติ

ที่ จ.สุพรรณบุรี นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด เปิดเผยว่าขณะนี้พื้นที่สุพรรณ บุรี ประกาศเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติแล้วเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งแรกประกาศช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 เดือนตุลาคม

"จุดที่ได้รับความเสียหายจำนวนมากจะเป็นบ้านเรือน ประชาชนและพื้นที่การเกษตร สำหรับพื้นที่สถานที่ท่องเที่ยวของสุพรรณบุรีอย่างบึง ฉวาก ตลาด 100 ปีสามชุก ตลาดเก่าศรีประจันต์ ยังไม่ได้รับผลกระทบมาก จะหนักสุดก็คือตลาดเก้าห้อง ซึ่งพื้นที่น่าห่วงที่สุดขณะนี้มีที่อำเภอหนองหญ้าไซ อำเภอเดิมบางนางบวช และพื้นที่อำเภอสามชุก ที่มีการระบายน้ำจากเขื่อนกระเสียวลงมา เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนกระเสียวยังคงมีปริมาณน้ำสูงกว่าที่กำหนด เพราะเขื่อนกระเสียวรับน้ำมาจากจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งจำเป็นต้องระบายน้ำออกมาทางห้วยกระเสียวและบ้านโคกยายเกตุ แรงน้ำที่ไหลลงมาส่งผลให้ทางหลวงหมายเลข 3502 บ้านสระบัวก่ำ-บ้านดอนไร่ ท้องที่อำเภอหนองหญ้าไซ น้ำท่วมสูง 20 ซ.ม. ที่ ก.ม. 17-19 ส่งผลให้ถนนขาด" นายสมศักย์ ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า น้ำในแม่น้ำท่าจีนไหลเข้าท่วมตลาดน้ำคูเมืองโบราณสุพรรณบุรี ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ตรงข้ามวัดแคแล้ว ทำให้ผู้ค้าต้องอพยพหนีน้ำชุลมุน และน้ำในแม่น้ำท่าจีนยังทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนริมแม่น้ำท่าจีน

-ท่วมเละ'วัดไชโยวรวิหาร'

ที่ จ.อ่างทอง ผลสืบเนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มระดับสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงดันน้ำกัดเซาะชั้นใต้ดิน ซึ่งเป็นฐานรากของพนังเขื่อนคอนกรีตริมฝั่งแม่น้ำจนเป็นโพรง และน้ำได้ไหลท่วมขังวัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย และบ้านเรือนใกล้เคียง วัดจึงประสานขอกำลังทหารจากกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ มาสร้างแนวคันกั้นน้ำป้อง กันสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานพระมหาพุทธพิมพ์ และรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)



ใน เขตอ.เมืองอ่างทอง กระแสน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นคันดินในหมู่ที่ 7 ต.โพสะ ไหลบ่าท่วมขังถนนสาย 309 อ่างทอง-อยุธยา ระยะทางยาว 200 เมตร เบื้องต้นรถยังสัญจรได้ เทศบาลตำบลโพสะได้สร้างคันดินกั้นน้ำพร้อมปักป้ายเตือนภัย และป้องกันไม่ให้น้ำไหลบ่าไปยังเขตเทศบาลเมืองอ่างทอง ต.หัวไผ่ ต.สายทอง ต.บางปลากด

ชาวบ้านที่ประสบภัยทั้ง 7 อำเภอ จำนวน 55 ตำบล 269 หมู่บ้าน 3,786 ครัวเรือน เดือดร้อน 8,855 คน ซึ่งพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมหนักได้ร้องขอเรือจากหน่วยงานภาครัฐมากที่สุด เพราะเป็นพาหนะเดียวในการสัญจร ประกอบกับเรือมีราคาแพงเกินจริง จากเดิม 1,300-1,500 บาทต่อลำ ปรับราคาสูงขึ้นกลายเป็น 2,500 บาทขึ้นไป

-'สิงห์บุรี'หนีน้ำวุ่น

สถานการณ์ น้ำ จ.สิงห์บุรี ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาหลายพื้นที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น อาทิ อ.อินทร์บุรี อ.เมือง อ.พรหมบุรี เพราะเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำลงในแม่น้ำเจ้าพระยา 3,281 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาถูกน้ำท่วมพากันขนย้ายข้าวของหนี กันวุ่นวาย โดยเฉพาะในตลาดสดอินทร์ บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรีพื้นที่ราบลุ่มบางแห่งระดับน้ำสูงจากพื้นประมาณ 2 เมตร

ที่ จ.ลพบุรี สถานการณ์ระดับน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม ขณะนี้น้ำเหนือไหลเข้าสู่เขื่อนเพิ่มมากขึ้น อยู่ที่ระดับ 922 ล้าน ลูกบาศก์เมตร จนเขื่อนป่าสักฯ รับน้ำไว้แล้ว 1089.62 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่จริงๆ เก็บกักน้ำได้เพียง 96 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ทางเขื่อนคงต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนไหลลงท้ายเขื่อน ซึ่งต้องผ่านจังหวัดสระบุรี ลงสู่กรุงเทพฯ 1,100.17 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะเกรงจะทำให้เขื่อนชำรุด

-น้ำจ่อท่วมเมืองนครสวรรค์

ที่ จ.นครสวรรค์ หลังจากปริมาณน้ำจำนวนมากไหลบ่ามาจากจังหวัดทางภาคเหนือ แม่น้ำปิงยังมีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการตรวจสอบบริเวณแนวเขื่อนกั้นน้ำหน้าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา ตลาดปากน้ำโพ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงเกินตลิ่งแล้ว นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ ลงพื้นที่สำรวจระดับน้ำในแม่ น้ำหน้าตลาดปากน้ำโพตลอดคืนที่ผ่านมา พบว่าระดับน้ำขยับตัวสูงขึ้นอีก 10 ซ.ม. น้ำก็จะไหลเข้าท่วมตัวเมืองทันที ทำให้นายจิตตเกษมณ์สั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศบาลกว่า 500 คนเร่งอุดท่อระบายน้ำและวางแนวกำแพงหินคลุก ป้องกันแรงดันน้ำจากแม่น้ำดันเข้าสู่ท่อระบายไหลเอ่อเข้าท่วมตลาดปากน้ำโพ และจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณถนนมาตุลีข้างบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา

ผู้สื่อข่าวระบุด้วยว่า กระแสน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังไหลแรงได้พัดจนแนวคันดินลงหินคลุกพังที่ ทางเทศบาลนครนครสวรรค์ได้สร้างไว้เพื่อกันน้ำทะลักเข้าสู่ตัวเมือง เคราะห์ดีที่เทศบาลยังมีแนวคันดินแถวสองรองรับน้ำอยู่ จึงต้องรีบเร่งเสริมแนวคันดินแถวสองอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ บริเวณถนนเชิงสะพานเดชาติวงศ์ ซึ่งเป็นจุดที่ชาวปากน้ำโพใช้สัญจรไปมาระหว่างตัวตลาดปากน้ำโพกับส่วนราชการ ฝั่งศาลากลางจังหวัด โดนแรงดันของน้ำใต้ดินกัดเซาะจนเกิดการทรุดตัวเป็นหลุมกว้างเกือบ 10 เมตร ลึก 2 เมตร

-คนแห่รักษาร.พ.มหาราชฯ

ที่จ.นครราชสีมา นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าฯ แถลงข้อมูลพื้นที่ประสบอุทกภัยพบครอบคลุมทั้ง 32 อำเภอ 276 ตำบล 2,979 หมู่บ้าน 36 ชุมชน 206,920 ครัวเรือน ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 8 แสนคน ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตจากเหตุจมน้ำ 9 ราย พื้นที่เกษตรเสียหาย 1,594,733 ไร่ สาธารณประโยชน์เสียหาย 1,395 ล้านบาท

สำหรับบรรยากาศ โรงพยาบาลมหาราชนคร ราชสีมากลับมาเปิดให้บริการเป็นวันแรก หลังต้องปิดตัวตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. เพราะโดนน้ำท่วม พบว่า ตั้งแต่เช้าตรู่วันที่ 25 ต.ค. มีผู้ป่วยจำนวนมากทยอยเดินทางด้วยรถบรรทุกสูงที่ ทางกองทัพภาค 2 จัดเตรียมไว้ให้บริการเพื่อเดินทางมาขอรับบริการ แต่การดูแลรักษาช่วงนี้จะยังคงเปิดรับได้เฉพาะผู้ป่วยรายเก่า 3 แผนก ประกอบด้วย แผนกอายุรกรรม แผนกเด็กเล็ก และแผนกหูคอจมูก

ส่วนสภาวะ น้ำท่วมขังในเขตร.พ.มหาราชฯ นั้นเริ่มลดระดับลงมากแล้ว โดยเฉพาะอาคารผู้ป่วยนอก หลังจากกองทัพภาคที่ 2 กรมชล ประทาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด นำกระสอบทรายมาทำเป็นคันกั้นน้ำโดยรอบ พร้อมกับติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากตัวอาคารตลอด 24 ชั่วโมง แต่ปริ มาณน้ำที่ระบายออกยังไปท่วมขังอยู่บริเวณรอบนอกตัวอาคารสูงกว่า 50 ซ.ม.แทน

-ขอนแก่นระวังน้ำเขื่อน

ที่จ.ขอนแก่น นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในส่วนจ.ขอนแก่นมีน้ำชีจากจ.ชัยภูมิไหลเข้ามาในพื้นที่ขอนแก่นจำนวนมาก ทำให้หลายอำเภอประสบปัญหาน้ำท่วมไปส่วนหนึ่ง และลุกลามเข้ามาในหลายหมู่บ้านเขตอ.เมืองขอนแก่น เจ้าหน้าที่และชาวบ้านต้องช่วยกันทำพนังกั้นน้ำจากลำน้ำชีในหลายหมู่บ้าน เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้ามาท่วมในหมู่บ้าน ไร่นาเกษตรกร และพื้นที่ในเขตเมืองเศรษฐกิจของเมืองขอนแก่น จึงต้องปิดทางน้ำจากลำน้ำชีในเขต อ.เมืองขอนแก่น ดังกล่าว

ผู้สื่อ ข่าวระบุว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ประกาศว่า มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลเข้าสู่เขื่อน โดยเฉพาะในวันที่ 22 ต.ค. 2553 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างถึง 193 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันระดับน้ำสูงเกินกว่าระดับเก็บกักปกติ 60 ซ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำออกท้ายเขื่อน ซึ่งอาจทำให้ไร่นาบ้านเรือนบริเวณ 2 ฝั่งลำน้ำพองมีน้ำเอ่อท่วมตามสภาพความจำเป็น จึงขอประกาศให้พี่น้องประชาชนทั้งเหนือน้ำและท้ายน้ำ รับทราบสถานการณ์เพื่อความเข้าใจในเหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้ ขอให้ขนย้ายทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงต่างๆ ไปไว้ในที่ปลอดภัย

-'น้ำชี'ล้นตลิ่งร้อยเอ็ด

ที่ จ.ร้อยเอ็ด สถานการณ์น้ำชีในพื้นที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะผลมาจากเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ และอ่างเก็บน้ำ จ.มหา สารคาม ระบายน้ำออกเต็มที่หวั่นเขื่อนพังลงสู่ลำน้ำชีไหลลงสู่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเฉพาะอำเภอจังหาร เป็นด่านแรกที่น้ำชีล้นตลิ่งไหลบ่าเข้าท่วมนาข้าว หมู่บ้าน และวัด โดยเฉพาะบ้านหนองแค หมู่ 8 ต.ม่วงลาด

นายสมใจ นุศาสตร์เลิศ อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้านหนองแค หมู่ 8 ต.ม่วงลาด อ.จังหาร ต้องระดมลูกบ้านขุดดินริมถนนใส่กระสอบเนื่อง จากไม่มีงบฯ ซื้อทราย นำไปปิดกั้นถนนทางเข้าหมู่บ้านด้านริมฝั่งลำน้ำชี ซึ่งกระแสน้ำกำลังล้นตลิ่งไหลบ่าเข้าท่วมนาข้าวนาปีที่กำลังจะสุก จำนวน 750 ไร่

นางทองใบ โหระเวท อายุ 46 ปี ชาวบ้านหนองแค กล่าวว่า ขณะนี้ความเดือดร้อนนอก จากน้ำจะท่วมนาข้าวเสียหายสิ้นเชิงแล้ว ยังมีกองทัพหนูนานับแสนตัวมากับน้ำกัดกินต้นข้าวและข้าวที่ออกรวงกำลังสุก ทั้งหมู่บ้านเสียหายไปแล้วกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้ตนและชาวบ้านเลยมีอาชีพใหม่จับหนูโดยวิธีการใช้ไฟฟ้าชอร์ตช่วงกลาง คืน ได้คนละ 2-3 ถุงปุ๋ยต่อวัน ประมาณ 50-100 ตัว นำมาตากแห้งกินเป็นอาหารและขายจานละ 20 บาท

-นาข้าวบุรีรัมย์จม 3 หมื่นไร่

เหตุ น้ำท่วมในจ.บุรีรัมย์ ขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดน้ำเหนือจากจ.นครราชสีมาที่ไหลมาสมทบลงลำน้ำมูล ทะลักเข้าท่วมโรง เรียนและบ้านเรือนเพิ่มอีก ขณะที่ทหารจากจังหวัดทหารบกบุรีรัมย์ กว่า 50 นาย พร้อมครู และชาวบ้านเดินลุยน้ำเข้าไปช่วยขนย้ายสมุด หนังสือ และอุปกรณ์การเรียนการสอน ภายในโรงเรียนบ้านบุ่งเบา ต.บ้านจาน อ.พุทไธสง ขึ้นไปเก็บไว้บนชั้น 2

จากข้อมูลพบว่าในเขตพื้นที่ อ.พุทไธสง และอ.คูเมือง มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 100 หลังคาเรือน และนาข้าวที่กำลังออกรวงจมอยู่ใต้น้ำกว่า 30,000 ไร่ หากระดับน้ำไม่ลดลงภายใน 1 สัปดาห์ นาข้าวจะเน่าตายเสียหายทั้งหมด

-'ท่าตูม'ที่เกษตรล่มหมื่นไร่

นาย ประถม ประเมินดี นายอำเภอท่าตูม จ.สุรินทร์ เชิญหัวหน้าส่วนราชการท้องถิ่น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชุมที่ที่ว่าการอำเภอท่าตูมเพื่อรับมือน้ำหนุนและแก้ปัญหาน้ำท่วม พร้อมเปิดเผยว่า อ.ท่าตูม แบ่งเขตการปกครอง 165 หมู่บ้าน ปัจจุบันน้ำเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรไร่นา 60 หมู่บ้าน รวมแล้วประมาณ 12,000 ไร่ อ่างเก็บน้ำต่างๆ น้ำเต็ม เช้าวันนี้ปริมาณน้ำมูลไหลเชี่ยวทำให้น้ำสูงขึ้นล้นตลิ่งตลอดแนวลำน้ำมูล 40 ซ.ม. โดยเฉพาะบริเวณวังทลุ บ้านตากลาง หมู่บ้านเลี้ยงช้าง ต.กระโพ น้ำเริ่มล้นตลิ่งปริ่มถนน

-ปภ.เตือน'โรคระบาด'

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ขอเตือนผู้ประสบภัยน้ำท่วมหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ลงจับสัตว์น้ำ และเล่นน้ำใกล้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง เพราะอาจถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้บริเวณทางน้ำไหลผ่านหรือร่องน้ำเพราะอาจเกิดดิน ถล่ม และกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก อาจพัดจมน้ำเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ควรระมัดระวังสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง เป็นต้น ที่อาจหนีน้ำขึ้นมาอาศัยอยู่ในบริเวณบ้านเรือน รวมถึงโรคติดต่อที่มักเกิดในช่วงน้ำท่วมขัง อาทิ โรคฉี่หนู อหิวา ตกโรค เป็นต้น โดยควรบริโภคน้ำสะอาดและรับประทานอาหารที่สุกและสดใหม่ รักษาสุข ภาพให้แข็งแรงและอบอุ่นตลอดเวลา ตลอดจนรักษาสุขอนามัย โดยเฉพาะในด้านการขับถ่ายให้เก็บใส่ถุงที่ปิดมิดชิด

ส่วนจังหวัด ที่ประสบอุทกภัยจนถึงวันที่ 25 ต.ค. มี 27 จังหวัด 225 อำเภอ 1,646 ตำบล 12,414 หมู่บ้าน 940,673 ครัวเรือน 2,651,944 คนพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย 2,878,598 ไร่ ได้แก่ จ.พิจิตร ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี อยุธยา สระแก้ว นครราชสีมา ปราจีนบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยภูมิ สระบุรี เพชรบูรณ์ นครนายก ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นนทบุรี ปทุมธานี กำแพงเพชร นครปฐม อุทัยธานี เชียงใหม่ ลำพูน และสมุทรปราการ และมีจังหวัดที่สถานการณ์คลี่ คลายแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ตาก และชลบุรี

-เผยยอดตายเพิ่ม 41 ศพ

สถาบัน การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพช.) สรุปยอดผู้เสียชีวิต จากภัยน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 10-25 ต.ค. จากเดิมมีผู้เสียชีวิต จำนวน 38 ราย ล่าสุดมีการแจ้งยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 3 ราย คือ ที่จ.ลพบุรี 2 ราย และ จ.นครสวรรค์ อีก 1 ราย ทำให้จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้รวมทั้งสิ้นแล้ว 41 ราย แยกเป็น จ.นครราชสีมา 6 ราย จ.บุรีรัมย์ 6 ราย จ.ลพบุรี 8 ราย จ.ขอนแก่น 3 ราย จ.เพชร บูรณ์ 3 ราย จ.ระยอง 2 ราย จ.ชัยภูมิ 2 ราย จ.ตราด 1 ราย จ.สระแก้ว 1 ราย จ.สระบุรี 1 ราย จ.พระนครศรีอยุธยา 1 ราย จ.นนทบุรี 1 ราย จ.อุทัยธานี 1 ราย จ.ชัยนาท 1 ราย จ.กำแพงเพชร 3 ราย และจ.นครสวรรค์ 1 ราย

-สมิทธชี้'ลานีญา'พ่นพิษ

ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตประธานกรรม การอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า จากเหตุอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก ภาคกลาง เป็นผลที่เกิดมาจากฝนตกหนักอันเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์ "ลานีญา" ทำให้ประเทศไทยมีปริมาณฝนสูงกว่าปกติและทำให้ฤดูฝนยาวนานกว่าปกติ อย่างกรณีของ จ.นครราชสีมา ที่ไม่เคยเกิดเหตุน้ำท่วมหนักอย่างที่เป็นอยู่นั้น เป็นผลที่เกิดจากบริเวณนคร ราชสีมาอยู่ในพื้นที่สูงและเป็นเขตป่าดงดิบเขาใหญ่มีความชื้นสูง

"ปรากฏ การณ์ลานีญาจะทำให้มีฝนตกหนักมากกว่าปกติ เมื่อน้ำฝนที่ตกลงมาไหลลงสู่ที่ต่ำ แต่ด้วยปริมาณน้ำฝนที่มาก ทำให้ตามห้วย-หนอง-คลอง-บึง หรือเขื่อนลำตะคอง รองรับกักเก็บน้ำปริมาณมากๆ ไม่ได้ ทำให้เกิดการล้นและไหลไปตามที่ต่างๆ จนเกิดน้ำท่วมหนัก สร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้านในพื้นที่ที่น้ำท่วมขัง อย่างไรก็ตาม มองว่าถ้ามีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพยากรน้ำ เข้ามาบริหารจัด การทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดสรรน้ำให้มีที่กักเก็บได้อย่างพอเหมาะ จะทำให้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมบรรเทาเบาบางลง ปัญหาน้ำท่วมจะไม่หนักหนาสาหัสดังที่เป็นอยู่" ดร. สมิทธ ชี้

-จวกยับศูนย์เตือนภัยพิบัติ

ดร.สมิ ทธ กล่าวต่อว่า ระบบการเตือนภัยของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติถือว่าทำงานไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า แต่กลับแจ้งให้รับทราบหลังจากน้ำท่วมไปแล้ว ทั้งๆ ที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติก่อตั้งมาเป็นเวลา 6 ปีตั้งแต่ครั้งเกิดภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิทางภาคใต้ตามที่ตนได้เสนอให้ รัฐบาลในยุคนั้นจัดตั้งขึ้นเพื่อแจ้งเตือนประชาชนในกรณีที่มีพิบัติภัยเป็น การล่วงหน้า เป็นศูนย์ที่มีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์และเครื่องมือที่มีความทันสมัย แต่ในเรื่องน้ำท่วม หรือน้ำป่าไหลหลากลงมาจากภาคเหนือลงมาสู่ภาคกลางตอนบนและตอนล่าง กลับไม่มีการแจ้งเตือนประชาชน

นอกจากนี้ ดร.สมิทธ ระบุอีกว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ควรเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรีโดยตรง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน นายกฯ จะได้สั่งการทันท่วงที อย่างจีนหรือญี่ปุ่น หน่วยงานในลักษณะศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจะขึ้นตรงกับนายกฯ หรือไปสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความเกี่ยวข้องกับ เรื่องของน้ำ แต่ปรากฏว่ารัฐ บาลกลับเอาศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติไปสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ หรือไอซีที ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน

"แม้ศูนย์ เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจะเกิดขึ้นจากกรณีคลื่นยักษ์สึนามิถล่มภาคใต้ แต่ศูนย์มีหน้าที่เตือนภัยพิบัติทุกชนิด เราจะมาอ้างว่าเหตุน้ำท่วมเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถป้องกันล่วงหน้าไม่ ได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงปัญหาเรื่องนี้เราแก้ไขได้ ผมคิดว่าศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติควรปรับ ปรุงระบบการทำงานให้ดีกว่านี้" ดร.สมิทธกล่าว



ขอบคุณความรู้ข่าวสดของ วันนี้ (26/10/2553) ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น